วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย

          ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย เป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อแปรรูปไข่เป็นการพัฒนาอาชีพและเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งทางกลุ่มได้นำสมุนไพรเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตทำให้ไข่เค็มมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นคาว และผู้บริโภคปลอดภัย  การผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยใช้ดินจอมปลวกพอกไข่ ซึ่งดินจอมปลวกมีคุณสมบัติทำให้ไข่แดงมีสีสด เป็นมัน รสชาติอร่อย และใช้ใบเตย ซึ่งทำให้ไข่กลิ่นหอมใบเตย ไข่ขาวไม่มีกลิ่นคาว และเนื้อนุ่ม
วิธีทำไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
วัตถุดิบ
1.     ไข่เป็ด
2.      เกลือ
3.      ดินจอมปลวก
4.      น้ำ
5.       ขี้เถ้าแกลบ
6.      ใบเตย
วิธีการทำ
1.      นำไข่เป็ดล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง
2.      นำส่วนผสม คือ ดินจอมปลวก เกลือ น้ำ และใบเตยที่หั่นแล้วนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ให้ส่วนผสมมีความเข้มข้นพอเหมาะ ไม่เหลว หรือข้นมากเกินไป หมักทิ้งไว้ 1 คืน
3.      นำไข่เป็ดคลุกเคล้าในส่วนผสม นำไข่เป็ดที่คลุกเคล้าในส่วนผสมแล้ว คลุกขี้เถ้าแกลบ เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ติดกัน แล้วใส่ภาชนะไว้ ไข่เค็มที่ได้สามารถนำมาทอดเป็นไข่ดาวหรือจะต้มก็ได้ สำหรับทอดไข่ดาวใช้เวลา 7-10 วัน นับจากวันที่ผลิต และต้ม 17-20 วัน นับจากวันที่ผลิต
     ไข่เค็มที่ได้จะมีรสชาติดี ไข่แดงมีสีแดงสด มีกลิ่นของใบเตยและไม่มีกลิ่นคาว นอกจากนั้นสมาชิกกลุ่มยังเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเพิ่มความรู้ทักษะในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้สมุนไพรเข้ามาเป็นส่วนผสมการพอกไข่เค็ม ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั่วไปว่ารสชาติดี และผู้บริโภคมีความปลอดภัย นอกจากการใช้ใบเตยแล้วยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดอาจนำมาเป็นส่วนผสมเหมือนใบเตยได้ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้สนใจจะนำไปทดลองใช้ ซึ่งกลุ่มนี้ได้นำใบเตยมาใช้เป็นส่วนผสมมานานแล้ว และผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั้งรสชาติและความปลอดภัยของผู้บริโภค
เจ้าของผลงาน  นางไซหม๊ะ    ลาเต๊ะ  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
สถานที่ติดต่อ  87/6  หมู่  3  ตำบลบ้านลุโบะบือซา  อำเภอยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส  โทรศัพท์  081-540-7658
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น