วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดในขอนไม้

       ในบริเวณบ้านหรือสวนของเกษตรกรโดยทั่วไป จะมีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับบริโภค ใช้สอย หรือเป็นร่มเงา โดยเฉพาะมะม่วง มีการปลูกในทุกสวน เมื่อมะม่วงอายุมากขึ้นเป็น 20-30ปี ผลผลิตจะลดลงหรือแห้งตาย นอกจากจะใช้เป็นฟืนเผาถ่านเพียงอย่างเดียว เราสามารถนำกิ่งมะม่วงมาเพิ่มมูลค่า โดยการทำให้ขอนไม้กลายเป็นเห็ดขอนขาว เห็ดบด เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนที่สามารถเก็บกินได้ยาวนานหลายปีได้ง่าย ๆ
วิธีการเพาะเห็ดในขอนไม้
เห็ดขอนขาว ใช้ไม้มะม่วงทุกพันธุ์ ไม้นุ่น ไม้เหลื่อม ฯลฯ
เห็ดขอนดำหรือเห็ดบด ใช้ไม้แต้ ไม้ติ้ว ไม้จิก ไม้กระยอม
อุปกรณ์
1.      ขอนไม้ (ไม้สด ๆ)
2.      ก้อนเชื้อเห็ดที่เชื้อเดินเต็มถุงแล้วพร้อมเป็นดอก
3.      เหล็กแป๊บกลวง ขนาด 6-8 หุน ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว
4.       ค้อนไม้สำหรับตอกเหล็ก
5.      เหล็กกลมขนาด 3-4 หุน ยาว 1 คืบ
วิธีการทำ
1.       ตัดไม้ที่จะนำมาเพาะให้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว
2.       ใช้เหล็กกลวงตอกให้เป็นรู แต่ละรูห่างกัน 1 คืบ ทุกด้าน ถ้าเป็นท่อนใหญ่หรือตอไม้ ให้ตอกสลับกัน
3.        การตอกครั้งแรกให้ตอกลึกแค่เปลือกออกก่อนโดยใช้เหล็กกลมดันออก ตอกครั้งที่ 2 ให้กินเนื้อไม้ลึกป-1 ข้อนิ้วมือ
4.      นำเชื้อเห็ดถุงที่จะเพาะ ยัดในรูปที่ตอกแล้วปิดด้วยเปลือกไม้หรือไม้ที่ตอกออกใช้ค้อนทุบให้แน่นทำจนหมดไม้ หรือจนพอ
5.      ถ้าเชื้อเห็ดไม่หมดให้บรรจุในถุงพลาสติกปิดปากให้สนิทเก็บไว้ในที่ร่ม สำหรับใช้ในวันต่อไป
วิธีการดูแล
1.       นำขอนเห็ดที่อัดเชื้อแล้วมาวางกองไว้ในที่ร่ม โดยใช้ไม้หมอนรองด้านล่างแล้ววางเรียงเป็นชั้น ๆ คลุมด้วยพลาสติกเปิดน้ำทุกสัปดาห์ (ถ้าเป็นไม้แห้ง) ไม้สดไม่ต้องรดน้ำ พักไว้ 1 เดือน
2.       เมื่อครบ 1 เดือน เปิดผ้าพลาสติกออกเพื่อให้ขอนไม้แห้ง พักไว้  1 เดือน
3.       เมื่อครบ 1 เดือน นำไปแช่น้ำ ครั้งละ 7-10 วัน แล้วเอาขึ้นไว้ริมสระน้ำ ตากจนแห้ง แล้วเอาลงแช่น้ำอีอีกทำสลับอย่างนี้จนเริ่มมองเห็นดอกเห็ด
4.       นำขอนที่เริ่มเห็นดอกเห็ดไปตั้งชันไว้เห็ดจะเกิดเต็มขอนจากขอนไม้จะกลายเป็นขอนเห็ด สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 1-2 ปี แล้วแต่ขนาดขอน
       การเพาะเห็ดโดยวิธีนี้เหมาะสมในการทำเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่ายเหมาะกับการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำครั้งหนึ่งเก็บผลผลิตได้นานนับปี การลงทุนมีเพียงค่าก้อนเชื้อเห็ดราคาก้อนละ 10 บาทเท่านั้น สำหรับคนไม่มีเวลาดูแลตามขั้นตอน หลังเจาะรูใส่เชื้อแล้ว ก็ปล่อยตามธรรมชาติรอฝนตกในฤดูอย่างเดียว ก็จะเกิดดอกเหมือนกันแต่จะช้าหน่อย
เจ้าของผลงาน  นายขัญติภาณ  ศรีใส
สถานที่ติดต่อ สำนักงานกษตรอำเภอแวงใหญ่  จังหวัดขอนแก่น  โทรศัพท์  0-4349-6058
ที่มา :    สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น