วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ขวดน้ำกับดักแมลงวันทอง

           แมลงวันทองเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญกับพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผล เช่น ฝรั่ง กระท้อน ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง พืชผักต่าง ๆ แมลงวันทองจะเจาะดูดน้ำจากผลไม้นั้นแล้ววางไข่ เมื่อไข่เป็นตัวหนอนก็จะกินผลไม้เหล่านั้น เน่าเสียหาย การป้องกันโดยการห่อผลไม้ด้วยกระดาษหรือพลาสติก ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ จะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง การป้องกันแมลงวันทองในสวนผัก ผลไม้ที่เหมาะสม ควรเป็นวิธีอย่างง่าย ประหยัด ไม่ใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต เช่น การใช้กับดักแมลงวันทองการกำจัดปริมาณแมลงวันทอง ด้วยการใช้กับดัก มีหลักการอย่างง่าย คือ ใช้สารธรรมชาติ ล่อแมลงตัวผู้ให้เข้าไปในกับดักและบินออกไม่ได้ โดยกับดักอย่างง่าย คือ ขวดน้ำพลาสติก และเหยื่อล่อ คือ ใบกระเพรา เพราะแมลงวันทองจะชอบมาก
วิธีทำกับดักแมลงวันทอง
อุปกรณ์
1.      เชือกฟาง ยาว 1-2 ฟุต
2.      มีดหรือคัทเตอร์
3.      ใบกระเพรา
4.       ขวดพลาสติกขนาดใดก็ได้ จำนวน 2 ขวด
วิธีทำ
1.      นำขวดเปล่าขวดที่หนึ่ง แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยด้านปากขวดจะเป็น 1ใน 4 ส่วน อีก 3 ส่วนเป็นส่วนก้นของขวด
2.      ขวดที่ 2 แบ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน แต่สลับกัน คือ ส่วนปากขวดเป็น 3 ใน 4 ส่วนของขวด และส่วนก้นขวดเป็นหนึ่งส่วน
3.      การประกอบ โดยนำขวดที่หนึ่งซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนแล้ว นำส่วนด้านฝาขวดกลับเข้าไปในขวดที่ 2
4.      นำส่วนก้นของขวดที่ 2 มาประกอบเพื่อทำเป็นที่ใส่อาหาร ระหว่างส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ให้ใช้เชือกฟางผูกให้หลวม ๆ เพื่อให้แมลงวันทองเข้าได้
5.      นำไปห้อยกับกิ่งของต้นไม้ที่ต้องการกำจัดแมลงวันทอง นำใบกระเพรามาขยี้มาใส่ในที่ใส่อาหาร จะเรียกแมลงวันทองมาเกาะ เมื่อแมลงบินจะบินขึ้นทางปากขวดแล้วจะบินออกไม่ได้เพียง 2-3วั น แมลงวันก็จะตาย แต่ต้องเปลี่ยนใบกระเพราทุกวัน
เมื่อแขวนกับดักแมลงวันทองไว้บริเวณกึ่งกลางทรงพุ่มให้อยู่ในร่มเงา ให้ห่างกันประมาณ 20 เมตร หรือประมาณไร่ละ 5 จุด สามารถลดปริมาณแมลงวันทองลงได้ สำหรับการกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้ให้ได้ผลดีควรใช้วิธีผสมผสาน เช่น การใช้เหยื่อพิษร่วมกับการใช้สารล่อและกับดัก ก่อนที่แมลงวันผลไม้จะระบาด ขณะที่ผลไม้ยังเล็กอยู่ ตรวจดูจำนวนแมลงในกับดัก ถ้าพบว่าแมลงวันผลไม้มากกว่า 10 ตัว ต่อกับดักต่อสัปดาห์ ควรใช้เหยื่อพิษ นอกจากนี้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การเก็บผลที่ถูกทำลาย เผาหรือขุดหลุมฝัง และตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มต้นไม้ให้โปร่ง เพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป
เจ้าของผลงาน  นายสุริยา  โอสถานนท์
127  หมู่  3  ตำบลบ้านช่อง  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา  โทรศัพท์  083-119-9838
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น