วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

การเพาะถั่วงอกด้วยใบตองสดในตะกร้าพลาสติก

            ถั่วงอก  เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามินซี และเกลือแร่ เป็นผักที่นิยมบริโภคกันมาก ซึ่งสมัยก่อนเกษตรกรนิยมเพาะถั่วงอกด้วยทราย แต่เนื่องจากล้างทำความสะอาดค่อนข้างยาก เกษตรกรจึงพัฒนาการเพาะใหม่โดยการนำใบตองสดที่มีมากในท้องถิ่น มาเป็นวัสดุเพาะใส่ในเข่งไม้ไผ่ แต่เข่งไม้ไผ่ราคาค่อนข้างแพง เกษตรกรจึงนิยมเพาะในตะกร้าพลาสติกแทนซึ่งมีราคาถูกกว่า เกษตรกรใช้ระยะเวลาเพียง 3-4 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกมาบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้ ซึ่งจะได้ถั่วงอกที่สด และปลอดภัยจากสารเคมี ไม่มีสารฟอกขาว สารคงความสด (ฟอร์มาลิน) ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
วิธีเพาะถั่วงอกด้วยใบตองสดในตะกร้าพลาสติก
อุปกรณ์                                    
1.      ตะกร้าใส่ผ้าระบายน้ำได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 นิ้ว ความสูง 9 นิ้ว จำนวน 1 ใบ
2.      ถั่วเขียวประมาณ 200 กรัม
3.      บัวรดน้ำ จำนวน 1 ใบ
วิธีทำ
1.       นำถั่วเขียวมาทำความสะอาดคัดเมล็ดที่เสียออก แช่น้ำประมาณ 5-6 ชั่วโมง
2.       นำใบตองสดมาฉีกเป็นเส้น ๆ ตามความยาวของใบฉีกตามเส้นร่องใบกว้างประมาณ 1 ซม. โดยตรงบริเวณหัวและท้ายใบ อย่าให้ขาดออกจากกัน
3.      นำใบตองที่ฉีกเป็นเส้น ๆ แล้วไปชุบน้ำ แล้วนำใบตองไปเรียงในก้นตะกร้าหนาประมาณ 2 ชั้น จึงนำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำแล้วโรยบนใบตอง เกลี่ยให้เสมอกัน นำใบตองที่ชุบน้ำแล้วปิดทับเมล็ดถั่วเขียวชั้นแรกแล้วโรยเมล็ดถั่วเขียวบนใบตองชั้นที่ 2 แล้วทำซ้ำเหมือนชั้นแรกจนกระทั่งถึงความสูงครึ่งหนึ่งของความสูงของตะกร้าที่ใส่เพาะถั่วงอก ส่วนชั้นบนสุดนำใบตองไปปิดทับ แล้วจึงนำตะกร้าที่เพาะถั่วงอกไปตั้งในที่ร่ม อย่าให้โดนแสงแดดและที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
4.       รดน้ำในตะกร้าทุก ๆ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน สามารถนำไปบริโภคและจำหน่ายได้ นำใบตองปิดทับเมล็ดถั่วเขียวชั้นบนสุด ผลผลิตถั่วงอกหลังจากการเพาะเป็นเวลา 3 วัน

        การเพาะถั่วงอกด้วยใบตองในตะกร้าพลาสติกที่มีขนาดเล็กเหมาะสมสำหรับทำบริโภคในครอบครัว ถ้าหากต้องการเพาะเพื่อจำหน่ายจะต้องเพาะในภาชนะที่มีขนาดใหญ่และใช้ระบบน้ำที่ทันสมัยจึงจะได้ผลดี ได้รับประทานถั่วงอกที่สด ปลอดภัยจากสารพิษ และเป็นรายได้เสริมแก่ผู้เพาะจำหน่ายได้
เจ้าของผลงาน  นายมะอีซอ  หามะ
สถานที่ติดต่อ  18  หมู่ที่ 3 ตำบลเฉลิม  อำเภอระแงะ  จังหวัดนราธิวาส  โทรศัพท์  0-7367-1290
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น