วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ขี้หมูหมักด่วน ใช้ดีเพื่อไม้ผล

       ขี้หมู ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านและเมื่อล้างลงร่องระบายน้ำ เป็นสาเหตุให้น้ำเสีย และคลองตื้นเขิน จึงได้เร่งรีบหาความรู้ทดลองเพื่อหาวิธีการกำจัดกลิ่นขี้หมูเพื่อไม่ให้เป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน
      วิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
ใช้ผลไม้สุก 40 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำสะอาด 10 ลิตร สารเร่ง พ.ด.6 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ นำสารเร่ง พ.ด.6 ละลายในน้ำให้เข้ากัน นาน 5 นาที ก่อนนำเศษผลไม้ที่ขยี้ให้ละเอียด และกากน้ำตาลผสมลงถังหมัก คลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้งก่อนปิดฝาไม่ต้องสนิทนัก หมักทิ้งไว้นาน 20 วัน จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้ล้างคอกหมูกำจัดกลิ่นเหม็นในคอกเพียงใช้ น้ำ 1 ส่วนผสมน้ำ 10 ส่วน
          วิธีการหมักขี้หมู 8 ชั่วโมง  จากผลที่น่าพอใจจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการหมักขี้หมูเพื่อใช้ในระยะเวลารวดเร็วเพราะขาดสถานที่หมัก เนื่องจากภาชนะหมักจะใช้รถเข็นใส่ขี้หมูจากคอก เมื่อหมักเสร็จแล้วจะเข็นเทลงสวนไม้ผลหรือนำไปตากให้แห้งเพื่อใส่ในแปลงนาข้าวต่อไป
         อัตราส่วนที่ใช้ คือ ขี้หมูสด 40 กก. น้ำหมักชีวภาพจาก พ.ด.6 ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 2 กำมือคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
        นำไปราดพื้นหรือบริเวณทรงพุ่มไม้ผล อาจเกิดหนอนแมลงวันแต่อายุของหนอนจะมากขึ้นอีก 10 วัน ตัวจะโตกลายเป็นอาหารของนก หรือกวาดลงน้ำเป็นอาหารปลา เพราะขี้หมูจะแห้งพอดี แต่ถ้าใส่ขี้หมูมากหรือหนามาก หนอนจะไม่ฟักออกเป็นแมลงวันและตายขณะเป็นตัวหนอน
        จากการทำใช้มา 2 ปี ไม่พบปัญหากับพืช พบแต่ผลดี อีกทั้งจากการทดลองถ้าใช้ขี้หมูสด ที่ไม่ผ่านการหมัก ราดลงพื้นบริเวณทรงพุ่มต้นฝรั่งจำนวน 2 ต้น ลักษณะเช่นเดียวกับการใช้ขี้หมูผ่านการหมักผลที่ได้รับตรงข้ามกับการใช้ขี้หมูหมัก คือเพียงไม่กี่วันต้นฝรั่งจะตาย เพื่อให้ได้ความรู้จึงยอมเสียฝรั่งที่ให้ผลแล้วจำนวน 2 ต้น ข้อดีของการใช้ขี้หมูหมักสามารถลดสภาวะกลิ่นหมักจากขี้หมู ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก จะมีก็เพียงปุ๋ยเคมี 2 กำมือ ต่อขี้หมูหมัก 40 กก. ผลผลิตและรสชาติของฝรั่งดีขึ้น อีกทั้งเมื่อนำไปตากแดด สามารถนำไปผลิตเพื่อต่อเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช (สารเร่ง พ.ด.3) สามารถป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าได้อีกด้วย
วิธีต่อเชื้อจุลินทรีย์ (สารเร่ง พ.ด.3) ใช้ขี้หมูตากแห้ง 100 กก. รำละเอียด 1 กก. น้ำ 5 ลิตร สารเร่ง พ.ด.3 จำนวน 1 ซอง ผสมสารเร่ง พ.ด.3 กับรำข้าวลงในน้ำ ทิ้งไว้นาน 5 นาที รดสารละลาย พ.ด.3 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้ในที่ร่ม เกลี่ยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียบไม่หนามากนัก ก่อนคลุมด้วยพลาสติก หมักเป็นเวลา 7 วัน การพิสูจน์ว่าใช้ได้ดีหรือไม่โดยการใช้มือสอดลงในกองปุ๋ยถ้าไม่มีความร้อนเป็นใช้ได้ สามารถนำไปใช้ในไม้ผล ต้นละ 3 กก. หรือสำหรับใช้ในผัก เช่น แตงกวา จำนวน 100 กก./ไร่
เจ้าของผลงาน  นายบุญชู   อินทร์ประสิทธิ์ 
สถานที่ติดต่อ  บ้านท่าสะตือ    ตำบลห้วยกรดพัฒนา  อำเภอสรรคบุรี  จังหวัดชัยนาท  โทรศัพท์  085-271-1300
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น