วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เครื่องคัดดอกมะลิ

ดอกมะลิ ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการร้อยเป็นพวงมาลัย สำหรับใช้ในหลายโอกาส การนำมาร้อยพวงมาลัย ต้องคัดขนาดมะลิให้มีขนาดเท่า ๆ กัน จึงจะทำให้การร้อยพวงมาลัยได้สวยงาม ดังนั้นเมื่อเก็บมะลิจากสวนแล้วส่งจำหน่ายไม่มีการคัดขนาดจะทำให้ได้ราคาต่ำ และถ้าใช้แรงงานคนในการคัดก็จะทำให้ช้าเสียเวลา เกษตรกรจึงคิดค้นทำเครื่องทุ่นแรงในการคัดดอกมะลิ โดยการพัฒนามาจากเครื่องคัดขนาดของส้มเขียวหวาน โดยใช้ตะแกรงที่มีขนาดแตกต่างกัน ทำให้ได้ดอกมะลิที่มีขนาดตามความต้องการของตลาด สะดวกรวดเร็ว และได้ราคาดี

การทำเครื่องคัดดอกมะลิ
อุปกรณ์
1.      มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1/3 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง
2.      สายพาน เบอร์ 28 จำนวน 1 เส้น
3.      เหล็กฉาก
4.      ไม้คิ้วทำขอบ
5.       น็อต
6.       ตะแกรงพลาสติก เบอร์ 8,6,4 หรือใช้ขนาดดอกมะลิไปวัดกับขนาดของตะแกรง ว่าต้องการขนาดที่จะให้ดอกใหญ่ กลาง เล็ก ลอดผ่านได้
7.        ปั๊มชัก ขนาด 1 แรงม้า 1 ตัว
วิธีประกอบเครื่องคัดดอกมะลิ
1.       ทำโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 1.10 เมตร ยาว 2 เมตร ทั้งหมด 3 ชั้น โดยใช้เหล็กฉากทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาด พร้อมขาตั้งทั้ง 4 ขา และนำตะแกรงพลาสติกมาทำเป็นพื้น โดยให้ตะแกรงขนาด 8มิลลิเมตร อยู่บนสุด ชั้นที่ 2 ขนาด 6 มิลลิเมตร และชั้นล่าง 4 มิลลิเมตร ตามลำดับ แต่ละชั้นให้ลาดเอียง 30 องศา
2.       นำไม้คิ้วมาทำขอบแต่ละชั้นให้สูงจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว
3.      ใช้แผ่นเหล็ก อ็อกเชื่อมติดกับคันชัก คันส่ง และติดกับขอบตะแกรง
4.        ติดตั้งปั๊มชัก มอเตอร์ และสายพาน
5.        ช่องทางลงของดอกมะลิมีภาชนะรองรับ กรุด้วยผ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ดอกมะลิช้ำ
นำดอกมะลิใส่บนตะแกรงด้านบนสุด ดอกมะลิที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดตะแกรงจะติดค้างอยู่บนตะแกรง ดอกที่เล็กกว่าจะลงมาสู่ตะแกรงด้านล่างตามลำดับ มะลิที่จะนำมาคัดแยกขนาดด้วยเครื่องคัดดอกมะลิจะต้องเป็นมะลิที่แห้ง ถ้ามะลิเปียกน้ำจะจับกันเป็นก้อน ยากแก่การคัด และไม่ควรใส่มะลิมากเกินไป เพราะจะทำให้คัดยาก ควรทยอยใส่ทีละน้อย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ได้มะลิที่มีขนาดเท่ากัน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับดอกมะลิ
เจ้าของผลงาน  นายราเชนทร์    สีสุข
สถานที่ติดต่อ  14/4   หมู่  ตำบลบ้านมะเกลือ  อำเภอเมือง  จังหวังนครสวรรค์   โทรศัพท์  089-436-8602
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น