วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ชาผักหวานบ้าน


การบริโภคผักทุกวันนี้นับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผักที่มีการฉีดพ่นด้วยสารเคมี แล้วทำการเก็บเกี่ยวในช่วงที่ยังไม่ปลอดภัย ผักพื้นบ้านมีหลายชนิดที่ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงต่อผู้บริโภค เช่น ผักหวานบ้าน แต่การนำยอดผักมาปรุงอาหารนั้น คนส่วนมากนิยมนำมาแกงหรือผัด เมื่อถูกความร้อนสารอาหารในผักจะละลายมาอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำผัดมากกว่ายอดผักหวานที่ปรุงสุกแล้ว การนำผักหวานมาทำชาผักหวาน น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าทางอาหารอย่างเต็มที่ การทำชาผักหวานบ้านมีวิธีการทำที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้หลักการเหมือนกับชาที่ใช้ชงดื่มทั่วไป เพียงแต่ใช้ยอดผักหวานแทนใบชาเท่านั้น

การทำชาผักหวานบ้าน
1.       การทำชาผักหวานบ้านให้ได้รสชาติดีและมีคุณภาพ การเก็บยอดผักหวานควรเก็บเวลา 04.00-06.00 น. เพราะจะได้วิตามินครบถ้วน (ยังไม่มีการสังเคราะห์แสง) การเก็บควรเลือกเก็บเฉพาะใบยอดอ่อนเท่านั้น ความยาวประมาณ 5-10 ซม. น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม
2.       นำยอดผักหวานบ้านที่เก็บได้มาคั่วไฟอ่อน ๆ ที่สม่ำเสมอคั่วจนสุกเหลืองและกรอบพอสมควร
3.       เมื่อคั่วเสร็จแล้ว นำไปตากแดดประมาณ 2-3 แดด หรือจะใช้ตู้อบก็ได้เพื่อไล่ความชื้นออกไปให้หมด ป้องกันการเกิดเชื้อรา และเก็บไว้ชงดื่มต่อไป ซึ่งสามารถเก็บได้นานเป็นปี
วิธีชงชาผักหวาน
ใช้ชงแบบชาจีนทั่วไป คือ เอาชาผักหวานใส่ใสกา แล้วเทน้ำร้อนลงไปพอสมควร ทิ้งไว้สักพัก ก็จะได้น้ำชาผักหวานที่หอมอร่อย หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ บดใบชาผักหวานบ้านให้ละเอียดแล้วบรรจุใส่ถุงผ้าเล็ก ๆ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักหวานบ้านเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนมากกว่าผักชนิดอื่น แคลเซียมบำรุงกระดูก ฟอสฟอรัสป้องกันการติดเชื้อ เบต้าแคโรทีนป้องกันรังสียูวีจากแสงแดด ไม่ให้เกิดมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ในใบผักหวานสด ๆ ยังมีวิตามินซีสูง ช่วยไม่ให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ในร่างกายถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศหรือรังสีจากแสงแดด เมื่อเราได้รับสารอาหารดังกล่าว ทำให้การยืดหดตัวของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพตามไปด้วย การทำชาผักหวานบ้านควรใช้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนของผักหวานเท่านั้น ถ้าเราใช้ใบแก่ทำให้รสชาติไม่ชวนรับประทาน
เจ้าของผลงาน  นายจำรัส  ปุ๋ยกระโทก
สถานที่ติดต่อ  724  หมู่  4  ตำบลพลวงทอง  อำเภอบ่อทอง  จังหวัดชลบุรี  โทรศัพท์  086-153-2607
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ปลาอบรมควัน

ประชาชนส่วนใหญ่ของบ้านโคกป่าฝาง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงไก่บนบ่อปลา ซึ่งปลาที่เลี้ยงก็มีหลายชนิด เช่น ปลานวลจันทร์ ปลาเล่งฮื้อ ปลาที่เลี้ยงจะมีพ่อค้าคนกลาง มารับซื้อแต่ซื้อในราคาต่ำ แม่บ้านจึงได้คิดรวมกลุ่มแปรรูปอาหารจากปลาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 และได้พัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง
ปลารมควันเป็นผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปปลา ลักษณะของปลาอบรมควันนั้น มีรสชาติที่อร่อยกลมกล่อม มีรสหวาน เค็มในเนื้อปลา ลักษณะคล้ายเนื้อแดดเดียว มีกลิ่นหอม เวลารับประทานเนื้อจะนุ่ม เก็บไว้รับประทานได้นาน
วิธีการทำปลาอบรมควัน
1.       นำปลาจีน ปลาเกล็ดเงิน หรือปลานวลจันทร์ มาขอดเกล็ด ชำแหละเอาหัว เครื่องใน และก้างออก
2.       นำปลามาล้างน้ำให้สะอาด แล้วใช้กรรไกรหนีบเป็นริ้วเล็กพอประมาณ
3.       นำปลาที่หนีบเสร็จแล้วแช่น้ำแข็งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นก็นำปลาออกจากลังน้ำแข็ง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 5-6 น้ำ
4.       นำปลาที่ล้างเสร็จมาคลุกกับเครื่องปรุงรส (เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส น้ำตาล พริกไทย กระเทียม) และนำมาตากประมาณ 3-4 แดด
5.      นำปลาที่ตาก 3-4 แดด แล้วมาย่างไฟถ่านอ่อน ๆ หรือเข้าเตาอบ
6.      นำมาใส่บรรจุภัณฑ์ปิดผนึกให้เรียบร้อย เพื่อให้ปลาอบรมควันคงความอร่อยและรสชาติดี
การคัดเลือกปลาที่จะนำมาทำจะคัดเลือกปลาที่มีขนาดตัวใหญ่ สด และมีการอบที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้ปลาแห้งเก็บไว้ได้นาน มีการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยได้รับมาตรฐานอาหารและยา และมีกระบวนการการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีหลายรสชาติ มาเป็นปลาอบรมควันที่มีรสชาติที่อร่อย โดยเพิ่มส่วนผสมให้มากขึ้น และแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาให้หลากหลาย เช่น น้ำพริกขิง ปลาร้าบอง ซึ่งมีทั้งสุกและดิบ ในอนาคตจะมีการพัฒนารสชาติของผลิตภัณฑ์ให้มีหลายรสชาติมากขึ้น เช่น ปลาอบรมควันสามรส ปลายอ ไส้กรอกปลา
เจ้าของผลงาน  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโคกป่าฝางพัฒนา
สถานที่ติดต่อ    ตำบลปะโค  อำเภอเมืองหนองคาย  จังหวัดหนองคาย  โทรศัพท์  0-4290-8024
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

การทำมุ้งครอบปลาเค็ม

เนื่องจากเดิม คุณอุษา เกลี้ยงช่วย มีอาชีพขายปลาสดในตลาดนัด ซึ่งในแต่ละวันจะมีปลา บางชนิดขายไม่หมด หากแช่น้ำแข็งไว้ ปลาก็จะไม่สดขายไม่ได้ราคา คุณอุษาก็จะนำปลาที่เหลือในแต่ละวันมาทำเป็นปลาเค็มตากแห้งไว้เพื่อจำหน่ายแทน ซึ่งการทำปลาเค็มตากแห้งโดยทั่วไปมักมีปัญหาเรื่องแมลงวันรบกวน โดยไต่ตอมและวางไข่ ทำให้ปลาเสียหายมีผลถึงผู้ผลิตต้องสูญเสียรายได้และคุณภาพปลาลดลงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค คุณอุษาจึงคิดค้นวิธีป้องกันแมลงวันโดยการทำมุ้งกาง มิให้แมลงวันเข้าไปภายในบริเวณตากปลาได้ ทดลองทำและปรับปรุงดัดแปลงมาตลอด จนได้รูปแบบที่เหมาะสมในการผลิต และยึดการทำปลาเค็มกางมุ้งเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน
การทำมุ้งครอบปลาเค็ม
อุปกรณ์ทำมุ้งปลา
1.       ไม้ขนาด 1x2 นิ้ว และเหล็กท่อประปา
2.       ไม้สร้างโครงเพื่อกางมุ้ง
3.       ตาข่ายไนล่อนสีขาว
วิธีการทำ
ทำได้โดยนำเหล็กท่อประปาและไม้ที่เตรียมไว้ มาต่อทำเป็นโครงสร้างตามแบบและขนาดที่ต้องการเมื่อได้โครงสร้างเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการครอบโครงสร้างทั้งหมดด้วยตาข่ายไนล่อนสีขาว ไม่ให้มีช่องที่แมลงวันบินเข้าไปได้ ปลาเค็มตากแห้งจะมีคุณภาพปลอดภัยจากสารเคมี เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน 
รูปแบบการตากปลาโดยการกางมุ้งนี้สามารถปรับใช้ในพื้นที่ทั่วไป เป็นการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ถ้าหากมีปัญหาก็คงเรื่องการกางมุ้งเพื่อมิให้แมลงวันบินเข้าไปในมุ่งนั่นเอง และปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือเกี่ยวกับฤดูกาล ถ้าหากว่าเป็นช่วงฤดูฝน วันไหนฝนตกจะมีปัญหาพอสมควร ถ้าหากว่าปลาได้รับแดดไม่พอเพียงจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ หรืออาจเสียหายทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงความระมัดระวังในการกางมุ้งและฤดูกาลได้ดี จึงสามารถนำไปใช้ได้ดี
เจ้าของผลงาน  นายคำอ้วย   วิเศษ  รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเียวกู่หลานบ้านซับน้ำใส
สถานที่ติดต่อ  7/2  หมู่  11  ตำบลท่ากูบ อำเภอซับใหญ่  จังหวัดชัยภูมิ  โทรศัพท์  0-4473-1051
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ปลูกพืชไม่ใช้ดินแบบครัวเรือน

           การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินมีข้อดี คือ พืชมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลผลิตมีขนาดสม่ำเสมอ สามารถควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประหยัดการใช้น้ำและปุ๋ย นอกจากนี้ยังลดการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงเนื่องจากวัสดุปลูกสะอาด ปลอดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่มักจะติดมากับดิน และการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินยังสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้
การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน
          การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน ในวัสดุที่มีในท้องถิ่น คือ ไม้ไผ่ตง ซึ่งมีราคาถูก หาง่าย นำมาใช้แทนอุปกรณ์รางปลูก โต๊ะวางราง ที่มีราคาแพง เป็นการลดต้นทุนในการผลิต
อุปกรณ์
1.      ไม้ไผ่
2.       ซิลิโคนใส (สำหรับอุด)
3.       สกรูขนาด 2 นิ้ว
4.       เลื่อย มีด ไขควง
5.       ดอกสว่านสำหรับเจาะรู ½ นิ้ว
6.       ปั๊มน้ำขนาด 200 วัตต์
7.       กระถางดิน
วิธีการทำ
1.       เตรียมไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ยาว 2 เมตร
2.        เลื่อยไม้ไผ่ตามขนาดที่ต้องการที่ได้ออกแบบไว้ ตัดไม้ไผ่สำหรับทำรางปลูก 10 ท่อน สำหรับฐานรางปลูก 22 ท่อน
3.       ประกอบแบบพร้อมทดสอบการไหลของระดับน้ำและแก้ไขให้สมบูรณ์
4.       นำไปติดตั้งพร้อมปลูกพืชได้
       การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน โดยใช้ไม้ไผ่ทำรางปลูกแทนวัสดุทั่วไป เช่น พลาสติก ท่อ PVCทำได้ในปริมาณน้อยและใช้ปลูกพืชที่มีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกจำกัด และปลูกไว้รับประทานเองในครัวเรือน
เจ้าของผลงาน  นางสาวธันยนันท์  พันธ์รังสิต    นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ
สถานที่ติดต่อ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร   167  หมู่  1  ตำบลเชิงดอย  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  โทรศัพท์  0-5329-2233-35
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

เครื่องคัดดอกมะลิ

ดอกมะลิ ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการร้อยเป็นพวงมาลัย สำหรับใช้ในหลายโอกาส การนำมาร้อยพวงมาลัย ต้องคัดขนาดมะลิให้มีขนาดเท่า ๆ กัน จึงจะทำให้การร้อยพวงมาลัยได้สวยงาม ดังนั้นเมื่อเก็บมะลิจากสวนแล้วส่งจำหน่ายไม่มีการคัดขนาดจะทำให้ได้ราคาต่ำ และถ้าใช้แรงงานคนในการคัดก็จะทำให้ช้าเสียเวลา เกษตรกรจึงคิดค้นทำเครื่องทุ่นแรงในการคัดดอกมะลิ โดยการพัฒนามาจากเครื่องคัดขนาดของส้มเขียวหวาน โดยใช้ตะแกรงที่มีขนาดแตกต่างกัน ทำให้ได้ดอกมะลิที่มีขนาดตามความต้องการของตลาด สะดวกรวดเร็ว และได้ราคาดี

การทำเครื่องคัดดอกมะลิ
อุปกรณ์
1.      มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1/3 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง
2.      สายพาน เบอร์ 28 จำนวน 1 เส้น
3.      เหล็กฉาก
4.      ไม้คิ้วทำขอบ
5.       น็อต
6.       ตะแกรงพลาสติก เบอร์ 8,6,4 หรือใช้ขนาดดอกมะลิไปวัดกับขนาดของตะแกรง ว่าต้องการขนาดที่จะให้ดอกใหญ่ กลาง เล็ก ลอดผ่านได้
7.        ปั๊มชัก ขนาด 1 แรงม้า 1 ตัว
วิธีประกอบเครื่องคัดดอกมะลิ
1.       ทำโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 1.10 เมตร ยาว 2 เมตร ทั้งหมด 3 ชั้น โดยใช้เหล็กฉากทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาด พร้อมขาตั้งทั้ง 4 ขา และนำตะแกรงพลาสติกมาทำเป็นพื้น โดยให้ตะแกรงขนาด 8มิลลิเมตร อยู่บนสุด ชั้นที่ 2 ขนาด 6 มิลลิเมตร และชั้นล่าง 4 มิลลิเมตร ตามลำดับ แต่ละชั้นให้ลาดเอียง 30 องศา
2.       นำไม้คิ้วมาทำขอบแต่ละชั้นให้สูงจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว
3.      ใช้แผ่นเหล็ก อ็อกเชื่อมติดกับคันชัก คันส่ง และติดกับขอบตะแกรง
4.        ติดตั้งปั๊มชัก มอเตอร์ และสายพาน
5.        ช่องทางลงของดอกมะลิมีภาชนะรองรับ กรุด้วยผ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ดอกมะลิช้ำ
นำดอกมะลิใส่บนตะแกรงด้านบนสุด ดอกมะลิที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดตะแกรงจะติดค้างอยู่บนตะแกรง ดอกที่เล็กกว่าจะลงมาสู่ตะแกรงด้านล่างตามลำดับ มะลิที่จะนำมาคัดแยกขนาดด้วยเครื่องคัดดอกมะลิจะต้องเป็นมะลิที่แห้ง ถ้ามะลิเปียกน้ำจะจับกันเป็นก้อน ยากแก่การคัด และไม่ควรใส่มะลิมากเกินไป เพราะจะทำให้คัดยาก ควรทยอยใส่ทีละน้อย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ได้มะลิที่มีขนาดเท่ากัน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับดอกมะลิ
เจ้าของผลงาน  นายราเชนทร์    สีสุข
สถานที่ติดต่อ  14/4   หมู่  ตำบลบ้านมะเกลือ  อำเภอเมือง  จังหวังนครสวรรค์   โทรศัพท์  089-436-8602
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย

          ไข่เค็มสมุนไพรใบเตย เป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อแปรรูปไข่เป็นการพัฒนาอาชีพและเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งทางกลุ่มได้นำสมุนไพรเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตทำให้ไข่เค็มมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นคาว และผู้บริโภคปลอดภัย  การผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยใช้ดินจอมปลวกพอกไข่ ซึ่งดินจอมปลวกมีคุณสมบัติทำให้ไข่แดงมีสีสด เป็นมัน รสชาติอร่อย และใช้ใบเตย ซึ่งทำให้ไข่กลิ่นหอมใบเตย ไข่ขาวไม่มีกลิ่นคาว และเนื้อนุ่ม
วิธีทำไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
วัตถุดิบ
1.     ไข่เป็ด
2.      เกลือ
3.      ดินจอมปลวก
4.      น้ำ
5.       ขี้เถ้าแกลบ
6.      ใบเตย
วิธีการทำ
1.      นำไข่เป็ดล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง
2.      นำส่วนผสม คือ ดินจอมปลวก เกลือ น้ำ และใบเตยที่หั่นแล้วนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ให้ส่วนผสมมีความเข้มข้นพอเหมาะ ไม่เหลว หรือข้นมากเกินไป หมักทิ้งไว้ 1 คืน
3.      นำไข่เป็ดคลุกเคล้าในส่วนผสม นำไข่เป็ดที่คลุกเคล้าในส่วนผสมแล้ว คลุกขี้เถ้าแกลบ เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ติดกัน แล้วใส่ภาชนะไว้ ไข่เค็มที่ได้สามารถนำมาทอดเป็นไข่ดาวหรือจะต้มก็ได้ สำหรับทอดไข่ดาวใช้เวลา 7-10 วัน นับจากวันที่ผลิต และต้ม 17-20 วัน นับจากวันที่ผลิต
     ไข่เค็มที่ได้จะมีรสชาติดี ไข่แดงมีสีแดงสด มีกลิ่นของใบเตยและไม่มีกลิ่นคาว นอกจากนั้นสมาชิกกลุ่มยังเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเพิ่มความรู้ทักษะในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้สมุนไพรเข้ามาเป็นส่วนผสมการพอกไข่เค็ม ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั่วไปว่ารสชาติดี และผู้บริโภคมีความปลอดภัย นอกจากการใช้ใบเตยแล้วยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดอาจนำมาเป็นส่วนผสมเหมือนใบเตยได้ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้สนใจจะนำไปทดลองใช้ ซึ่งกลุ่มนี้ได้นำใบเตยมาใช้เป็นส่วนผสมมานานแล้ว และผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั้งรสชาติและความปลอดภัยของผู้บริโภค
เจ้าของผลงาน  นางไซหม๊ะ    ลาเต๊ะ  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็มสมุนไพรใบเตย
สถานที่ติดต่อ  87/6  หมู่  3  ตำบลบ้านลุโบะบือซา  อำเภอยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส  โทรศัพท์  081-540-7658
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ขี้หมูหมักด่วน ใช้ดีเพื่อไม้ผล

       ขี้หมู ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านและเมื่อล้างลงร่องระบายน้ำ เป็นสาเหตุให้น้ำเสีย และคลองตื้นเขิน จึงได้เร่งรีบหาความรู้ทดลองเพื่อหาวิธีการกำจัดกลิ่นขี้หมูเพื่อไม่ให้เป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน
      วิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
ใช้ผลไม้สุก 40 กก. กากน้ำตาล 10 กก. น้ำสะอาด 10 ลิตร สารเร่ง พ.ด.6 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ นำสารเร่ง พ.ด.6 ละลายในน้ำให้เข้ากัน นาน 5 นาที ก่อนนำเศษผลไม้ที่ขยี้ให้ละเอียด และกากน้ำตาลผสมลงถังหมัก คลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้งก่อนปิดฝาไม่ต้องสนิทนัก หมักทิ้งไว้นาน 20 วัน จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้ล้างคอกหมูกำจัดกลิ่นเหม็นในคอกเพียงใช้ น้ำ 1 ส่วนผสมน้ำ 10 ส่วน
          วิธีการหมักขี้หมู 8 ชั่วโมง  จากผลที่น่าพอใจจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการหมักขี้หมูเพื่อใช้ในระยะเวลารวดเร็วเพราะขาดสถานที่หมัก เนื่องจากภาชนะหมักจะใช้รถเข็นใส่ขี้หมูจากคอก เมื่อหมักเสร็จแล้วจะเข็นเทลงสวนไม้ผลหรือนำไปตากให้แห้งเพื่อใส่ในแปลงนาข้าวต่อไป
         อัตราส่วนที่ใช้ คือ ขี้หมูสด 40 กก. น้ำหมักชีวภาพจาก พ.ด.6 ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 2 กำมือคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
        นำไปราดพื้นหรือบริเวณทรงพุ่มไม้ผล อาจเกิดหนอนแมลงวันแต่อายุของหนอนจะมากขึ้นอีก 10 วัน ตัวจะโตกลายเป็นอาหารของนก หรือกวาดลงน้ำเป็นอาหารปลา เพราะขี้หมูจะแห้งพอดี แต่ถ้าใส่ขี้หมูมากหรือหนามาก หนอนจะไม่ฟักออกเป็นแมลงวันและตายขณะเป็นตัวหนอน
        จากการทำใช้มา 2 ปี ไม่พบปัญหากับพืช พบแต่ผลดี อีกทั้งจากการทดลองถ้าใช้ขี้หมูสด ที่ไม่ผ่านการหมัก ราดลงพื้นบริเวณทรงพุ่มต้นฝรั่งจำนวน 2 ต้น ลักษณะเช่นเดียวกับการใช้ขี้หมูผ่านการหมักผลที่ได้รับตรงข้ามกับการใช้ขี้หมูหมัก คือเพียงไม่กี่วันต้นฝรั่งจะตาย เพื่อให้ได้ความรู้จึงยอมเสียฝรั่งที่ให้ผลแล้วจำนวน 2 ต้น ข้อดีของการใช้ขี้หมูหมักสามารถลดสภาวะกลิ่นหมักจากขี้หมู ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก จะมีก็เพียงปุ๋ยเคมี 2 กำมือ ต่อขี้หมูหมัก 40 กก. ผลผลิตและรสชาติของฝรั่งดีขึ้น อีกทั้งเมื่อนำไปตากแดด สามารถนำไปผลิตเพื่อต่อเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช (สารเร่ง พ.ด.3) สามารถป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าได้อีกด้วย
วิธีต่อเชื้อจุลินทรีย์ (สารเร่ง พ.ด.3) ใช้ขี้หมูตากแห้ง 100 กก. รำละเอียด 1 กก. น้ำ 5 ลิตร สารเร่ง พ.ด.3 จำนวน 1 ซอง ผสมสารเร่ง พ.ด.3 กับรำข้าวลงในน้ำ ทิ้งไว้นาน 5 นาที รดสารละลาย พ.ด.3 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้ในที่ร่ม เกลี่ยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียบไม่หนามากนัก ก่อนคลุมด้วยพลาสติก หมักเป็นเวลา 7 วัน การพิสูจน์ว่าใช้ได้ดีหรือไม่โดยการใช้มือสอดลงในกองปุ๋ยถ้าไม่มีความร้อนเป็นใช้ได้ สามารถนำไปใช้ในไม้ผล ต้นละ 3 กก. หรือสำหรับใช้ในผัก เช่น แตงกวา จำนวน 100 กก./ไร่
เจ้าของผลงาน  นายบุญชู   อินทร์ประสิทธิ์ 
สถานที่ติดต่อ  บ้านท่าสะตือ    ตำบลห้วยกรดพัฒนา  อำเภอสรรคบุรี  จังหวัดชัยนาท  โทรศัพท์  085-271-1300
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.

ขวดน้ำกับดักแมลงวันทอง

           แมลงวันทองเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญกับพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผล เช่น ฝรั่ง กระท้อน ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง พืชผักต่าง ๆ แมลงวันทองจะเจาะดูดน้ำจากผลไม้นั้นแล้ววางไข่ เมื่อไข่เป็นตัวหนอนก็จะกินผลไม้เหล่านั้น เน่าเสียหาย การป้องกันโดยการห่อผลไม้ด้วยกระดาษหรือพลาสติก ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ จะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง การป้องกันแมลงวันทองในสวนผัก ผลไม้ที่เหมาะสม ควรเป็นวิธีอย่างง่าย ประหยัด ไม่ใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต เช่น การใช้กับดักแมลงวันทองการกำจัดปริมาณแมลงวันทอง ด้วยการใช้กับดัก มีหลักการอย่างง่าย คือ ใช้สารธรรมชาติ ล่อแมลงตัวผู้ให้เข้าไปในกับดักและบินออกไม่ได้ โดยกับดักอย่างง่าย คือ ขวดน้ำพลาสติก และเหยื่อล่อ คือ ใบกระเพรา เพราะแมลงวันทองจะชอบมาก
วิธีทำกับดักแมลงวันทอง
อุปกรณ์
1.      เชือกฟาง ยาว 1-2 ฟุต
2.      มีดหรือคัทเตอร์
3.      ใบกระเพรา
4.       ขวดพลาสติกขนาดใดก็ได้ จำนวน 2 ขวด
วิธีทำ
1.      นำขวดเปล่าขวดที่หนึ่ง แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยด้านปากขวดจะเป็น 1ใน 4 ส่วน อีก 3 ส่วนเป็นส่วนก้นของขวด
2.      ขวดที่ 2 แบ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนกัน แต่สลับกัน คือ ส่วนปากขวดเป็น 3 ใน 4 ส่วนของขวด และส่วนก้นขวดเป็นหนึ่งส่วน
3.      การประกอบ โดยนำขวดที่หนึ่งซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนแล้ว นำส่วนด้านฝาขวดกลับเข้าไปในขวดที่ 2
4.      นำส่วนก้นของขวดที่ 2 มาประกอบเพื่อทำเป็นที่ใส่อาหาร ระหว่างส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ให้ใช้เชือกฟางผูกให้หลวม ๆ เพื่อให้แมลงวันทองเข้าได้
5.      นำไปห้อยกับกิ่งของต้นไม้ที่ต้องการกำจัดแมลงวันทอง นำใบกระเพรามาขยี้มาใส่ในที่ใส่อาหาร จะเรียกแมลงวันทองมาเกาะ เมื่อแมลงบินจะบินขึ้นทางปากขวดแล้วจะบินออกไม่ได้เพียง 2-3วั น แมลงวันก็จะตาย แต่ต้องเปลี่ยนใบกระเพราทุกวัน
เมื่อแขวนกับดักแมลงวันทองไว้บริเวณกึ่งกลางทรงพุ่มให้อยู่ในร่มเงา ให้ห่างกันประมาณ 20 เมตร หรือประมาณไร่ละ 5 จุด สามารถลดปริมาณแมลงวันทองลงได้ สำหรับการกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้ให้ได้ผลดีควรใช้วิธีผสมผสาน เช่น การใช้เหยื่อพิษร่วมกับการใช้สารล่อและกับดัก ก่อนที่แมลงวันผลไม้จะระบาด ขณะที่ผลไม้ยังเล็กอยู่ ตรวจดูจำนวนแมลงในกับดัก ถ้าพบว่าแมลงวันผลไม้มากกว่า 10 ตัว ต่อกับดักต่อสัปดาห์ ควรใช้เหยื่อพิษ นอกจากนี้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การเก็บผลที่ถูกทำลาย เผาหรือขุดหลุมฝัง และตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มต้นไม้ให้โปร่ง เพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป
เจ้าของผลงาน  นายสุริยา  โอสถานนท์
127  หมู่  3  ตำบลบ้านช่อง  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา  โทรศัพท์  083-119-9838
ที่มา :  สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร "นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ของเกษตรกรและชุมชน", 2552.